วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เที่ยววัดกับขุนอภัยภักดี ทริป # ๖๒ (หลวงพ่อตาบอริยะสงฆ์ทุ่งมะขามเรียง วัดมะขามเรียง )
สวัสดีสมาชิกทุกท่านวันนี้กลับมาทำหน้าที่อีกครั้งคับหลังจากที่หายหน้าหายตาไปพักใหญ่( เหตุมาจากคอมฯที่บ้านพัง ) วันนี้จะพาไปเที่ยวกราบหลวงพ่อตาบวัดมะขามเรียงเริ่มกันเลยนะครับ วัดมะขามเรียง เป็นวัดเล็กๆเงียบสงบ ไม่มีผู้คนแวะเวียนมาเหมือนเมื่อครั้งที่หลวงพ่อท่านยังอยู่นี่เป็นคำพูดของพระที่วัด วัดมะขามเรียง  ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 66 หมู่ 2 บ้านบ่อกระโดน ต.ไผ่ขวาง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี แรกเริ่มเดิมทีจะเป็นสำนักสงฆ์ จนกระทั่งล่วงมาถึง พ.ศ.2472 สำนักสงฆ์แห่งนี้ได้มีพระอธิการปลั่ง   คชบุตร    เป็นกำลังสำคัญร่วมกับฆราวาสอันได้แก่ กำนันอาจ อาจหาญ และนายก ทายิกา ชาวบ้านย่านไผ่ขวาง ร่วมกันพัฒนาสำนักสงฆ์แห่งนี้ให้มั่งคงแข็งแรง โดยกำนันอาจ อาจหาญ ได้เสียสละบริจาคที่ดินเป็นสำคัญ ส่วนชาวบ้านก็รวบรวมกำลังกันก่อสร้างถาวรวัตถุอันจำเป็นขึ้นมาก่อน และจึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีนั้น วันที่ 30 กันยายน 2472 วัดมะขามเรียงก็ได้พระราชทานวิสุงคามสีมากว้าง 80 เมตร ยาว 120 เมตร มีเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดคือ พระอธิการปลั่ง คชบุตร พระอธิการปลั่งได้เป็นผู้นำของชาวบ้านสร้างวัดมะขามเรียง โดยได้เปิดสอนพระปริยัติ เมื่อ พ.ศ.2478 เพราะได้กำลังสำคัญเข้ามาช่วยเหลือพระศาสนาในวัดอย่างเข้มแข็ง คือ พระตาบ อตตกาโม เพื่อเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมปีนั้น พระตาบ อตตกาโม  สอบนักธรรมตรีได้เป็นรุ่นแรกของโรงเรียนแห่งนี้



กาลล่วงมาถึง พ.ศ.2488 พระอธิการปลั่งคชบุตร ก็ลาสิกาขา ฯ สู่เพศคฤหัสถ์ ทางคณะสงฆ์เห็นว่า พระตาบ อตตมาโม เป็นผู้มีความมุ่งมั่น และเข้มแข็งในการปฏิบัติภารกิจพระศาสนาเป็นอย่างดี  อีกทั้งมีความรู้ถึงนักธรรมเอก กิตติคุณในการเทศน์ครั้งนั้นก็ลือชาปรากฏเป็นที่เลื่อนใสศรัทธาของชาวบ้านใกล้เรือนไกลมากมาย จึงได้มอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมะขามเรียง ตั้งแต่ พ.ศ.2489 หลังจากหลวงพ่อตาบได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว วัดมะขามเรียงก็เริ่มเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งกำลังศรัทธาของชาวบ้านและการก่อสร้างถาวรวัตถุอันได้แก่ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ ก็ได้รับการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรือง  สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันซึ่งมีความงดงามและมั่นคง  โรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดมะขามเรียง เป็นผลงานอันเกิดจากการเห็นการไกลของหลวงพ่อตาบ ซึ่งท่านได้มุ่งมั่น เพียรพยายามในการให้การอุปถัมภ์อยู่มิได้ขาด นับได้ว่าประวัติความเป็นมาของวัดมะขามเรียงนั้นได้เริ่มต้นในยุคของพระอธิการปลั่ง  และดำเนินมาเป็นวัดมะขามเรียงอย่างสมบูรณ์แบบด้วยบารมีของหลวงพ่อตาบมาจนถึงปัจจุบันซึ่งปัจจุบันได้มีพระครูศุภธรรมคุณเป็นเจ้าอาวาส   เจ้าคณะอำเภอบ้านหมอ  เป็นผู้ดูแลวัดมะขามเรียงต่อมา  ตามความต้องการของหลวงพ่อตาบที่ท่านได้ตั้งปณิธานไว้
ประวัติหลวงพ่อตาบ อัตตกาโม หรือ  "พระครูเวชคามคณารักษ์" วัดมะขามเรียง จ.สระบุรี ตาม ประวัติ หลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง ได้ศึกษาด้านวิทยาคมกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่าน  หลวงพ่อตาบ อัตตกาโม เป็นพระเกจิดังชื่อดังที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีเมตตาธรรมสูง มีชื่อเสียงโด่งดังในเขตจังหวัดสระบุรี วัตถุมงคลของหลวงพ่อตาบ ท่านเป็น ที่เสาะแสวงหาของบรรดาเซียนพระ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ รูปเหมือน พระกริ่ง พระเนื้อผง โดยเฉพาะพระชัยวัฒน์เวชคามมะขามเรียง พระกริ่งเวชคามมะขามเรียง  (ข้อมูลส่วนนี้จาก http://www.tumsrivichai.com )
อัตโนประวัติหลวงพ่อตาบ มีนามเดิมว่า ตาบ คชรินทร์ เกิดวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2454 ณ บ้านกระโดน ต.ไผ่ขวาง อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายโป๋และนางฟัก คชรินทร์ ท่านเป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัวเมื่อ หลวงพ่อตาบ เติบโตได้สมควรก็เรียนรู้ภาษาไทยพออ่านออกเขียนได้กับบิดา ก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดศักดิ์ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลับมาช่วยบิดา-มารดา ทำงาน ระหว่างนี้ คุณตาแจ้ง ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านอักขระ ด้านเลขยันต์ เวทมนตร์พุทธอาคม ได้สอนฝึก จนพอมีความสามารถด้านพุทธคมแต่เยาว์วัย  ครั้นอายุครบ 21 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมะขามเรียง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2476 มี พระครูศรีคณาภิบาล (โฉม) วัดดอนพุด เป็นอุปัชฌาย์, พระอธิการแซ วัดบ้านร่อม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการปลั่ง เจ้าอาวาสวัดมะขามเรียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาในเพศบรรพชิตว่า อตฺตกาโม หลังจากอุปสมบทแล้วก็จำพรรษา ณ วัดมะขามเรียงกับพระอนุสาวณาจารย์ คือพระอธิการปลั่ง


หลวงพ่อตาบ ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดมะขามเรียง ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ.2480 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก นอกจากนี้ หลวงพ่อตาบ ยังได้ศึกษาวิชานักเทศน์กับครูพรหม พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงแห่งวัดสามง่าม กรุงเทพฯ จนสามารถเทศน์ได้ดีเยี่ยม ท่วงทำนองลีลาแบบลมพัดชายเขา หรือ คลื่นกระทบฝั่ง เป็นที่ประทับใจแก่ญาติโยม แต่สุดท้าย ท่านได้หันกลับไปศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน พ.ศ.2497 ท่านเดินทางไปศึกษากับพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย ได้ฝึกฝนจนมีความชำนาญ จึงได้กลับมายังวัดมะขามเรียง ตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานวัดมะขามเรียง มีลูกศิษย์มากมายมาขอฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อเป็นจำนวนมาก ด้านวิทยาคม หลวงพ่อตาบ ได้ศึกษากับน้าชาย คือ พระครูประสาธน์วิทยาคม หรือ หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ พระเกจิชื่อดังด้านตะกรุดหน้าผากเสือ อีกทั้งได้ศึกษาวิชากับหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค, หลวงพ่อพิณ วัดมะขามโพรง, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์  พ.ศ.2489 คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งหลวงพ่อตาบ เป็นเจ้าอาวาสวัดมะขามเรียง จากนั้น หลวงพ่อตาบ ได้ร่วมกับชาวบ้าน สร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ร่วมกันพัฒนาวัดมะขามเรียงบนเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาม 14 ตารางวา เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ
หลวงพ่อตาบ กับพุทธาคมของหลวงพ่อ ตามประวัติเบื้องต้นที่ได้กล่าวมาแล้วว่า หลวงพ่อตาบ มีความรู้พื้นฐานด้านพุทธาคมมาตั้งแต่เยาว์วัยโดยได้ศึกษากับคุณตา ผู้มีความเป็นเลิศทางด้านเวทย์มนต์คาถา ครั้นมาอุปสมบทหลวงพ่อก็เริ่มศึกษาทางธรรมตลอดจนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นับได้ว่ารากฐานทางด้านพลังจิต อำนาจบารมีทางใจของหลวงพ่อแข็งแกร่งขึ้น กล่าวกันว่า วิชาพุทธาคมและเวทย์มนต์นั้นเป็นเพียงแผนที่ แต่จิตใจเป็นกำลังที่พาให้เดินไปตามแผนที่ เมื่อมีอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถกระทำได้สัมฤทธิ์ผลสมบูรณ์ หากมีสองสิ่งสองประการครบถ้วน ปฏิบัติการทางพุทธาคมย่อมประสบผลอย่างแน่แท้ เช่นเดียวกับหลวงพ่อตาบ หลังจากท่านได้ฝึกฝนปฏิบัติการทางจิตใจโดยวิปัสสนากรรมฐานอย่างชำนิชำนาญจนจัดว่าเป็นนายของใจได้แล้ว การปฏิบัติทางพุทธาคมและคาถาอาคมของหลวงพ่อตาบจึงมิต้องสงสัยเลยว่าจะทำได้ดีเยี่ยมขนาดไหน


นอกจากหลวงพ่อตาบ จะศึกษาพุทธาคมกับคุณตาแล้ว ท่านยังได้ศึกษากับน้าชาย ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังในครั้งอดีต คือ พระครูประสาธน์วิทยาคม (หลวงพ่อนอ) วัดกลางท่าเรือ จ.อยุธยา ผู้กระฉ่อนชื่อด้านตะกรุดหน้าผากเสือ โดยหลวงพ่อได้ศึกษาวิชาต่าง ๆ มามากมาย และที่แน่นอนที่สุดก็คือ วิชาตะกรุดหน้าผากเสือ ซึ่งหลวงพ่อตาบทำได้ขลังไม่แพ้ของอาจารย์ทีเดียว นอกจากหลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือแล้ว หลวงพ่อยังได้ศึกษาวิชาบางประการกับ หลวงพ่อพิณ วัดมะขามโพรง และเคยเดินทางไปศึกษากับ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ ซึ่งหลวงพ่อก็ทำมีดหมอได้ขลังมากเช่นกัน สำหรับ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค นั้น ดูเหมือนหลวงพ่อจะสนิทสนมกัน เพราะเคยเดินทางไปมาหาสู่อยู่บ่อย ๆ ได้สนทนาธรรมและวิชาความรู้ต่าง ๆ มากมาย นับได้ว่าหลวงพ่อมีความสนใจทางพุทธาคมอยู่มาก และเพียรพยายามติดตามศึกษาอย่างเจนจบ
พระเครื่องและวัตถุมงคลของหลวง พ่อตาบ ที่จัดสร้าง อาทิ ตะกรุดโทน ตะกรุดสามพี่น้อง ตะกรุดนวโลกุตระ (9 ดอก) ตะกรุดหน้าผากเสือ เหรียญรุ่นต่างๆ เหรียญหลวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียง รุ่นแรก พระชัยวัฒน์ พระกริ่งเวชคาม รูปเหมือนกริ่ง มีดหมอ พระผงต่างๆ ผ้ายันต์ แหวนถักด้วยเชือกและจีวร เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์กับผู้ที่พกพาพระเครื่องและวัตถุมงคลของท่าน ไม่ว่าจะด้านเมตตาค้าขาย โชคลาภ คงกระพัน มหาอุด ก็พบเห็นกันบ่อยๆ โดยเฉพาะตะกรุดหน้าผากเสือ ของหลวงพ่อตาบ ที่ใครหลายคนต้องการ พุทธคุณไม่แพ้ หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ เลยทีเดียว หลวงพ่อตาบ ได้ละสังขารลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2532  สิริอายุ 78 ปี จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 24 ปีแต่ร่างกายสังขารของท่าน ไม่เน่าเปื่อย บรรดาลูกศิษย์จึงนำสังขารร่างของท่านใส่ไว้ในโลงแก้ว ตั้งไว้ให้บรรดาพุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้  หากว่าสมาชิกท่านใดมีโอกาศผ่านมาทางท่าเรือหรือดอนพุดควรหาโอกาสไปกราบท่านที่วัด  สุดท้ายขออาราทนานำภาพสรีระสังขารขอหลวงพ่อมาให้เป็นศิริมงคลกับชีวิตสำหรับพระผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ขออำนาจบารมีของหบวงพ่อตาบ วัดมะขามเรียงจงคุ้มครองให้ท่านคลาดแคล้วจากภัยทั้งปวง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น