เที่ยววัดกับขุนอภัยภักดี
ทริป#๕๙ (วัดแก้ววิจิตร
ชมพระอุโบสถสี่ชาติ เมืองปราจึนบุรี )
สวัสดีสมาชิกทุกท่านที่ติดตามกระทู้เที่ยววัดมาตลอดและขอตอนรับสมาชิกใหม่ที่พึ่งจะเข้ามาแบบตั้งใจหรือหลงๆเข้ามา
และตามธรรมเนียมปฏิบัติคือขออนุญาตผู้ดูแลห้องดอกไม้แดงทั้งสองท่านคือทั้งพี่ตะกรุดและพี่Tom วันนี้ก็เหมือนทุกๆครั้งที่มาโพสในห้องนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเรื่องราวเกี่ยวกับวัดมาฝากและกระทู้นี้ก็ล่วงมาถึง
59 วัดแล้ว วันอาทิตย์ที่ 27 มกราที่ผ่านมามีโอกาสดีที่ได้เดินทางไปปราจีนบุรีและไม่พลาดที่จะต้องมีเป้าหมายของแต่ละครั้งนั้นคือขอสักวัดหนึ่งแล้วกัน
เป้าหมายแรกๆที่กำหนดก็จะเป็นวัดเก่าของแต่ละที่หรือวัดที่มีพระดังๆเป็นเป้ารองลงมา
แต่สำหรับทริปนี้มาปราจีนฯเลยตั้งเป้าไว้ที่วัดแก้วฯ
โดยได้ความอนุเคราะห์เส้นทางจากน้องแต๊ป Butterfly Boy สมาชิก Fortuner Club ชี้แนะเส้นทางแต่เสียดายที่น้องเขาติดภารกิจจึงไม่ได้เจอตัวสดๆเป็นๆ
แต่ก็ขอขอบพระคุณไว้ ณ.ที่นี้ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
วัดแก้วสร้างขึ้นโดยนางประมูลโภคา
หรือนางแก้ว ประสังสิต เพื่อใช้ใน การทำบุญตักบาตร ถือศีลฟังธรรมโดยมีผู้ร่วมกัน
บริจาคที่ดิน แรงงานและทุนทรัพย์ ในการก่อสร้าง สิ่งก่อสร้างในระยะแรก ประกอบด้วย
ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฎี พระอุโบสถ ศาลาท่าน้ำและเรือนแพ
ภายในพระอุโบสถแต่เดิมประดิษฐานรอยพระพุทธจำลอง
ครั้นเมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้อพยพครอบครัวจากเมืองพระตะบองมาอยู่ที่ปราจีนบุรี
ท่านก็ได้อุปถัมภ์วัดนี้ โดยการบูรณะปฎิสังขรณ์ ตลอดจนการสร้างเสนาสนะทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และสร้างทดแทนของเก่าเช่น
ในปี พ.ศ. 2451 ได้สร้างศาลาธรรมสังเวช และเมรุเผาศพ
อย่างละ 1 หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2453
เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างโรงเรียน ศาลา เมรุ จึงได้ถูกรื้อไปจนหมดสิ้น
ในปี พ.ศ. 2457 เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้รื้อ อาคารโรงเรียน หนังสือไทยหลังเดิม
แล้วสร้างโรงเรียนบาลีธรรมวินัยและหนังสือไทย เป็นอาคาร ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก
โรงเรียนแห่งนี้ จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมแห่งแรกของจังหวัดปราจีนบุรี
และภายหลัง จึงได้รับพระราชทานนาม โรงเรียนว่าโรงเรียนอภัยพิทยาคาร ในปี พ.ศ. 2461
เจ้าพระยาภูเบศรได้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งชำรุดแล้วสร้างพระอุโบสถ
หลังใหม่ขึ้นแทนที่
พระอุโบสถหลังใหม่นี้มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทย จีน เขมร
และตะวันตก ที่มีความงดงาม หาดูได้ยากยิ่ง
พระอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารเครื่องก่อ
ขนาด 5
ห้อง มีเฉลียงรอบ หลังคามุงกระเบื้อง มีหลังคามุขประเจิด
และหลังคาเฉลียงรอบ 2 ชั้น เครื่องลำยอง
เป็นปูนลงรักประดับหน้าบันปูนปั้นเขียนสี
มีลายปูนปั้นเป็นภาพวิมานพระอินทร์กลางลายพันธ์พฤกษา
ขอบล่างของหน้าบันเป็นลายกระจังลายสาหร่ายรวงผึ้ง
ด้านล่างหน้าต่างด้านนอกอาคารมีลายปูนปั้นรูปหนุมาน
ส่วนบนของอาคารเขียนเป็นภาพชาวต่างชาติโดยรอบ
ผนังด้านนอกทั้งด้านหน้าและหลังเป็นลายปูนปั้นรูปพระราม
เสาหน้ามุขประเจิดเป็นลายปูนปั้นรูปมังกรข้างละ 1 ตัว
โดยอุโบสถหลังนี้จำลองแบบมาจากวัดพระเจ้าช้างเผือก เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
(ราชอาณาจักรกัมพูชา)
ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้พระอุโบสถเป็นหอไตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2
ชั้น สร้างเชื่อมกันกับหอระฆัง
หลังคาปีกนกประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ส่วนหอระฆัง เป็นหลังคาทรงมณฑป
วัดแก้วพิจิตรให้เป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ.๒๕๓๓และในปี พ.ศ.๒๕๓๕
จังหวัดปราจีนบุรีจึงได้ดำเนินการบูรณะวัดแห่งนี้อีกครั้ง
โดยใช้รูปแบบวิธีการบูรณะของกรมศิลปากร
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางอภัยทาน
เป็นศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์
ตามแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๔๖๔ หล่อด้วยโลหะทองแดงมีขนาดหน้าตักกว้าง ๑ เมตร ๗
เซนติเมตรพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวายกขึ้น
หันฝ่าพระหัตถ์ออกด้านนอก พระองค์วางตั้งฉากอยู่บนพระเพลา
พระหัตถ์ซ้ายวางหงายฝ่าพระหัตถ์ขึ้นอยู่บนพระเพลา
พระเนตรและพระอุมาฝังด้วยอัญมณี อยู่ภายใต้ฉัตรเงิน ๕ ชั้น
เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงออกแบบและทรงประทานพระนามว่า “ปางอภัยทาน”พระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญและเลียนแบบพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ของอินเดีย
พระพักตร์เป็นแบบประติมากรรมกรีกโรมัน พระเกศาหยักศกรวบเป็นมวยกลางพระเศียร ครองจีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาติ
พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะรูปแบบใกล้เคียงกันกับพระพุทธรูปปางขอฝน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่างกันตรงที่พระพุทธรูปนี้เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งเท่านั้นสาธุชนที่มานมัสการมักมาขอพร
๓ ประการ ที่ประสบความสำเร็จ คือ
พรข้อที่ ๑
ถ้าท่านเป็นผู้ใจร้อน เมื่อได้นมัสการแล้วใจจะเย็นลงสงบขึ้น
พรข้อที่ ๒
ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีคำพูดไม่มีความหมาย พูดแล้วไม่ประทับใจผู้รับฟัง
พูดแล้วเหมือนขวางหูผู้รับฟัง เมื่อได้นมัสการแล้วจะเป็นผู้ที่พูดแล้ว
มีความหมายติดตรึงใจผู้รับฟัง ประทับใจผู้ร่วมสนทนา
พรข้อที่ ๓
จะล่วงเกินผู้ใดก็ตามจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
เมื่อได้นมัสการแล้วจะได้รับการให้อภัยจะไม่มีการโกรธไม่มีศัตรู
พระรัตนสุวรรณ
พระพุทธรูปทองคำทรงเครื่อง ประดับอัญมณีปางมารวิชัย นอกจากหลวงพ่ออภัยทานแล้วยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือพระพุทธรูปทองคำ”พระรัตนสุวรรณ” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่พระยาอภัยภูเบศร ที่งดงามด้วยศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
(ขออภัยภาพอาจจะไม่ชัดเนื่องจากภายในศาลาที่ประดิษฐานพระรัตนสุวรรณมืด และไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้องด้วยครับ)
ที่วัดแก้วพิจิตร แม้ว่าในปัจจุบันโรงเรียนอภัยพิทยาคาร จะไม่ได้ใช้เป็นโรงเรียนหอไตร จะมีตำรับตำราและคัมภีร์ที่ไร้คนอ่าน คนสนใจ ตลอดจนจำนวนพระในวัดจะลดน้อยลงไปจากเดิม แต่วัดแก้วพิจิตรยังคงเป็นแหล่งความรู้ ซึ่งอุดมไปด้วยร่องรอยทาง ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นที่พึ่งทางจิตใจ และสอนจิตใจด้วยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เป็นแหล่งเผยแพร่ พระพุทธศาสนา และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดซึ่งแสดงให้เห็นการปรับตัวของวัดแก้วพิจิตรให้สอดคล้องกับกระแส การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ด้วยความสำคัญของวัดนี้ทางด้านศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและการเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียน วัดนี้เป็นโบราณสถาน ของชาติ ในปี พ.ศ. 2533 และในปี พ.ศ.2535 จังหวัดปราจีนบุรีจึงได้ดำเนินการบูรณะวัดนี้อีกครั้ง โดยใช้รูปแบบวิธีการบูรณะของ กรมศิลปากร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น