วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เที่ยววัดกับขุนอภัยภักดี ทริป # ๑๗ (หลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูลวรวิหาร ชัยนาท ) Watthammamhoonvorkvihan Chainat TH.

: เที่ยววัดกับขุนอภัยภักดี ทริป # ๑๗ (หลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูลวรวิหาร ชัยนาท )

วันนี้ขุนอภัยภักดี จะพาไปไหว้หลวงพ่อธรรมจักร ที่วัดธรรมามูล ชัยนาท ซึ่งเป็นวัดที่อยู่บนเนินเขาใกล้ๆแม่น้ำ ก่อนที่จะข้ามไปวัดปากคลองมะขามเฒ่า เรามาทำความรู้จักประวัติของวัดและหลวงพ่อกัน
หลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเชิงเขา วัดธรรมามูลวรวิหาร ต.ธรรมมูล อ.เมือง จ.ชัยนาท เป็นศิลปะประยุกต์ช่างสมัยเชียงแสนตอนปลายถึงสุโขทัยตอนต้นผสมกับสมัยอยุธยา มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ประทับยืนบนฐานดอกบัว พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ สูงประมาณ 4.50 เมตร กลางฝ่าพระหัตถ์มีรอย "ธรรมจักร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพระพุทธรูปองค์นี้


ประวัติและตำนานว่ากันว่าเป็นพระลอยน้ำมาอีกองค์หลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูลวรวิหาร ไม่พบหลักฐานทางประวัติอย่างแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า มีผู้พบพระพุทธรูปลอยตามแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกันถึง 3 องค์ ได้แก่ หลวงพ่อโสธร (วัดโสธรวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา) หลวงพ่อวัดบ้านแหลม (วัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม) และหลวงพ่อธรรมจักร (วัดธรรมามูลวรวิหาร จ.ชัยนาท) บ้างกล่าวว่ามีพระพุทธรูปอีกองค์ คือ หลวงพ่อวัดไร่ขิง ลอยตามมาด้วย

พอถึงรุ่งเช้า ชาวบ้านต่างหาพระพุทธรูปไม่พบ ต่างคิดว่าพระพุทธรูปได้หลุดลอยน้ำไปแล้ว จึงแยกย้ายกันกลับ ปรากฏว่าในขณะนั้นได้มีผู้พบเห็นพระพุทธรูปองค์ที่ลอยน้ำได้มาประดิษฐานปิด ทางเข้าประตูวิหารวัดธรรมามูล เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง จึงได้เรียกชาวบ้านที่อยู่ด้านล่างให้ขึ้นไปดู ชาวบ้านจึงได้ร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างต่อเติมพระวิหารออกมาอีกช่วงหนึ่ง รวมเป็น 3 ช่วง
จากคำบอกเล่า เมื่อองค์หลวงพ่อประดิษฐ์อยู่ได้ 3 วัน ก็ได้หายไปจากพระวิหาร และกลับมาประดิษฐานดังเดิมโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีโคลนและจอกแหนติดเปื้อนมาด้วย ชาวบ้านจึงได้นำโซ่มาล่ามผูกไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้หลวงพ่อหายไปอีก ต่อมามีคนต่างถิ่นล่องแพมาจากทางเหนือ เพื่อตามหาพระพุทธรูป เมื่อมาถึงท่าน้ำหน้าวัดธรรมามูล ได้พบพระพุทธรูปที่ตามหาอยู่ ขณะนั้นเป็นช่วงพลบค่ำ ชายผู้นั้นจึงได้ขออาศัยนอนอยู่ที่วัด เพื่อรอเวลาอัญเชิญองค์หลวงพ่อกลับ ณ วัดแห่งเดิม ชายคนนั้น ได้ฝันว่า หลวงพ่อไม่ขอกลับไปด้วย จะขออยู่ที่วัดแห่ง

ครั้นรุ่งเช้า จึงได้กราบลาท่านสมภารเดินทางกลับบ้าน และได้ขอถอดเอา "จักร" ที่ฝ่าพระหัตถ์องค์หลวงพ่อกลับไป นับแต่นั้นมาหลวงพ่อธรรมจักรก็ไม่หายไปไหนอีก ชาวบ้านจึงได้นำโซ่ที่ล่ามออกและได้ร่วมกันสร้าง "จักร" ขึ้นใหม่และจัดให้มีงานสมโภชต่อเนื่องทุกปี จนถึงปัจจุบัน ร.ศ.120, 125 และ 127 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาสักการะหลวงพ่อธรรมจักร ถึง 3 ครั้ง ดังมีข้อความปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ ประพาสต้นมีพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 8 เดือนตุลาคม ร.ศ.120 ถึง กรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการ ตามความว่า "เวลาเช้า 3 โมงเศษ ถึงวัดธรรมามูล ขึ้นเขามีราษฎรอยู่มาก พระวิหารใหญ่หลังคาพังทลายลงทั้งแถบ จำเป็นต้องปฏิสังขรณ์ เมื่อนมัสการพระแจกเสมาราษฎรแล้วลงเรือเดินทางต่อมาอีก"  อนึ่ง ในการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมานั้น สันนิษฐานว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ตามเสด็จมาด้วย โดยพบแผ่นจารึกหินอ่อนที่ด้านบนเสาต้นกลางของซุ้มบันไดที่ติดกับลานพระวิหาร หลวงพ่อธรรมจักร จารึกเกี่ยวกับวัน เดือน ปี และบุคคลที่บริจาค โดยปรากฏเป็นพระนามแรก ทรงบริจาคเงินจำนวน 200 บาท

บุคคลที่สำคัญอีกท่านหนึ่งที่ได้ตามเสด็จมานมัสการ คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือสาสน์สมเด็จ ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2481 เป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ความตอนหนึ่งว่า "เมื่อปีแรก หม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ.2453 ขึ้นไปตรวจราชการหัวเมืองเหนือเมื่อฤดูน้ำ ได้พระราชทานกฐินหลวงไปทอดที่ วัดธรรมมามูลด้วย หม่อมฉันไปพักแรมอยู่ที่ชัยนาท รุ่งเช้าออกจากเมืองชัยนาทขึ้นไปบนเขาธรรมมามูล" ทั้งนี้ วัดธรรมามูลวรวิหาร จัดงานประเพณีนมัสการปิดทองหลวงพ่อธรรมจักร อันเป็นงานประจำปี กำหนดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือ ในเดือน 6 ระหว่างขึ้น 4-8 ค่ำ และเดือน 11 ระหว่าง แรม 4-8 ค่ำ รวมครั้งละ 5 วัน 5 คืน ส่วนการเดินทางนมัสการองค์หลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูลวรวิหาร สามารถใช้เส้นทางตามถนนพหลโยธินสายเก่า ชัยนาท-นครสวรรค์ เลยสี่แยกแขวงการทางชัยนาท ประมาณ 8 กิโลเมตร จะแลเห็นเขาธรรมามูลอยู่ทางซ้ายมือ มีป้ายชื่อวัดแสดงอยู่ ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนข้ามเขาอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร

คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ ชูชีพ ด้วงช้าง ที่มา... ฉบับที่ 6716 ข่าวสดรายวัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น