วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เที่ยววัดกับขุนอภัยภักดี ทริป # ๙ ( วัดป่าโมกวรวิหารอ่างทอง-เมืองสองพระนอนตอนจบ)



วันนี้จะพาไปกราบพระนอนอีกองค์ที่อ่างทองให้ครบทั้งสองวัดตามที่ได้ตั้งหัวข้อทริปเมืองสองพระนอน โดยครั้งนี้ได้เดินทางร่วมกับกลุ่ม Fortuner Club เนื่องในโอกาศวันแม่จะพาไปวัดป่าโมก ซึ่งวัดป่าโมกวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา ภายในวัดนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร

สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพังและนำไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาดห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานนามว่าวัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์และตัวพระวิหารแล้วยังมี วิหารเขียน มณฑปพระพุทธบาท 4 รอยเป็นต้น
ตำนาน "พระนอนพูดได้" ที่วัดป่าโมกวรวิหารพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร เป็นพระพุทธไสยาสน์ศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานที่วัดป่าโมกวรวิหาร (ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร) ที่ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ไม่ทราบว่าใครเป้นผู้สร้าง ทราบแต่เพียงว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพากองทัพมากราบไหว้พระพุทธไสยาสน์ก่อนยกทัพไปสู้รบกับพม่า




องค์พระพุทธไสยาสน์มีความยาวได้ 23 เมตร ที่ฝ่าพระบาททั้ง 2 ข้างมีการจารึกโคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งแต่งเพื่อบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งชะลอพระพุทธไสยาสน์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยธยา โดยชะลอจากที่ตั้งเดิมที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มาไว้ยังที่ตั้งปัจจุบัน เพื่อป้องกันกระแสน้ำพัดตลิ่งพัง และอาจทำให้องค์พระถล่มลงในแม่น้ำได้ เมื่อชะลอองค์พระไว้ในที่ตั้งปัจจุบันเสร็จแล้ว พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวิหารหลวงเพื่อคอรบองค์พระนอน แต่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคตเสียก่อนที่วิหารหลวงจะสร้างแล้วเสร็จ การจัดมหรสพเพื่อฉลององค์พระพุทธไสยาสน์และวิหารหลวงจึงได้จัดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา
ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้ที่วัดป่าโมกวรวิหารเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในบ้านป่าโมก ตามลิขิตของพระครูป่าโมกขมุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหารในสมัยนั้นได้บันทึกไว้ พอสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2448 พระโต พระในวัดป่าโมกป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโตซึ่งอยู่ที่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสีกาเหลียน สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออกมาจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่าง ๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน พระโตก็หายเป็นปกติ
จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมก แต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม 30 คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูป่าโมกขมุนีให้จุดไฟรอบวิหารพระนอนเพื่อดูว่ามีใครมาทำโพรงหลังพระนอนแล้วแอบซ่อนมาพูดกับสีกาเหลียนหรือไม่ แต่พระสงฆ์และโยมวัดก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ทั้งสิ้น
   

วันต่อมา สีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัดรวม 30 คน มากันเข้ามาในวิหารพระนอน สีกาเหลียนจุดธูปเทียน และถวายหมากพลูแก่พระพุทธไสยาสน์ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ หมากพลูที่สีกาเหลียนถวายหายไปในเวลา 2 นาที !!! พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลายประสบกัยเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์ให้พูดคุยกับพระครูปาโมกขมุนี ปรากฏว่า ก็เกิดเสียงจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์อีก โดยในวันนั้น พระครูปาโมกขมุนีได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบ และเครื่องยาที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาต์ พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่พระครูปาโมกขมุนีถามทุกประการ


ต่อมาในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2448 เมื่อเวลา 4 ทุ่ม สีกาเหลียน พระครูป่าโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัด รวมแล้วมีทั้งหมด 35 คน ได้เข้าไปตรวจดูในวิหารพระนอนอีกครั้ง ก็ไม่พบพิรุธใด ๆ ทั้งสิ้น สีกาเหลียนจึงบอกกล่าวกับพระพุทธไสยาสน์ว่าพระครูป่าโมกขมุนีอยากคุยด้วยอีก ก็เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พระครูปาโมกขมุนีได้ได้ถามพระพุทธไสยาสน์ว่า จะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระ และวิหารขึ้นใหม่ ก็บังเกิดเสียงตอบรับมาจากพระอุระของพระนอนอีก โดยพระพุทธไสยาสน์เกิดความยินดีที่พระครูป่าโมกขมุนีจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระนอนและวิหาร พระครูปาโมกขมุนีจึงได้เขียนจดหมายนี้เพื่อถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6) แต่พระองค์มิได้เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น จึงยังมิได้ถวายจดหมาย แต่ตำนานที่ปรากฏในจดหมายนี้ปรากฏในพระราชหัตเลขาของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น ประทับที่เมืองอ่างทอง



ตำนานเรื่องพระนอนพูดได้ที่วัดป่าโมกวรวิหารนี้ ยังอาจจะเป็นต้นเค้าในนวนิยายเรื่อง "ไผ่แดง" ผลงานของพลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในเนื้อเรื่องที่สมภารกร่าง เจ้าอาวาสวัดที่เข้าไปกราบพระประธาน แล้วพระประธานก็พูดกับสมภารกร่างได้ (สาทิส อินทรกำแหง , 2550 , น. 28)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น